รูปแบบทางวัฒนธรรมที่เป็นผลมาจากความคิดสร้างสรรค์ทางร่างกาย คือการเต้นรำเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงในงานศึกษาทางมานุษยวิทยา แต่คำว่าการเต้นรำเป็นคำที่บดบังสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวของท่วงท่าและการเคลื่อนไหวทางร่างกายของมนุษย์ ในหลายๆสังคม การเคลื่อนไหวร่างกายไม่อาจจัดประเภทเข้ากับแนวคิดของตะวันตก ในอดีตที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องการเต้นรำทำการศึกษาการเคลื่อนไหวของเรือนร่างที่มีหลายลักษณะและเชื่อมโยงถึงระบบความเชื่อศาสนา พิธีกรรม ศิลปะการป้องกันตัว การละเล่น ระบบสัญลักษณ์ ความบันเทิง และกีฬา บริบททางสังคมเหล่านี้เป็นผลจากการคิดสร้างสรรค์ซึ่งเข้าไปจัดระเบียบท่าทางการเคลื่อนไหวของมนุษย์ การเคลื่อนไหวบางลักษณะอาจมีความซับซ้อนและใช้ประกอบกับการเล่นดนตรี
การเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นในทุกๆสังคม ระบบการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นระบบของความรู้ ซึ่งมีทั้งการแสดงท่าทาง และพื้นที่ที่ใช้แสดงท่าทาง เพื่อเป็นส่วนประกอบของกิจกรรมที่ใหญ่กว่า ระบบความรู้ของการเคลื่อนไหวร่างกายถูกกำกับด้วยวัฒนธรรมและสังคมโดยกลุ่มคนที่สะสมความรู้และสืบทอดกันมา ถึงว่าความรู้แบบนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่ยืนนาน แต่การเคลื่อนไหวร่างกายก็มีระเบียบที่ชัดเจน ความรู้แบบนี้อาจเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ทางสังคมที่มองเห็นได้ด้วยตา
เป็นระบบของสุนทรียะที่ละเอียดอ่อน และอาจทำให้เข้าใจคุณค่าทางวัฒนธรรม การศึกษาการเคลื่อนไหวของร่างกายของกลุ่มคนในเชิงอุดมคติ เป็นการศึกษาที่ต้องการวิเคราะห์แบบแผนทางวัฒนธรรมและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ร่างกาย นอกจากนั้นยังเป็นการศึกษากระบวนการทางสังคมของกลุ่มคนบางกลุ่มในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และศึกษาลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกายในแบบต่างๆเพื่อดูว่ามนุษย์ใช้ร่างกายส่วนใด
การเคลื่อนไหวร่างกายของคนพื้นเมือง อาจเป็นนิยามของระบบการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเฉพาะตัว และการเคลื่อนไหวก็จะถูกนิยามในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ชาวตะวันตกมีการเคลื่อนไหวหลายแบบ เช่น บัลเล่ต์ สแควร์แดนซ์วอลท์ซและร็อคแอนด์รอลล์ การเต้นรำแบบนี้ต่างไปจากการเล่นสเก็ตน้ำแข็ง เชียร์ลีดเดอร์ และ การประสานเสียงในศาสนาซึ่งอาจไม่ถูกมองว่าเป็นการเต้นรำ คำถามคือมีเงื่อนไขอะไร หรือท่าทางแบบใดที่ไม่อาจแยกประเภทของการเคลื่อนไหวเหล่านี้ออกจากกัน