ศิลปะการร่ายรำของไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

8รำไทยเป็นการแสดงประเภทหนึ่งของนาฏศิลป์ไทย มีเอกลักษณ์การร่ายรำโดยการเคลื่อนไหวประกอบกับเสียงดนตรีด้วยลีลาที่อ่อนช้อยและสอดคล้องกลมกลืนกันระหว่างส่วนต่างๆของร่างกายโดยเฉพาะมือ แขน เท้า และลำตัว มีบทขับร้องด้วยหรือไม่ก็ได้ มีผู้แสดงตั้งแต่ 1-2 คนขึ้นไป แบ่งประเภทเป็นการรำเดี่ยว รำคู่ หรือรำหมู่ แต่งกายตามรูปแบบของการแสดง ท่ารำจะเชื่อมโยงต่อเนื่องกันและเป็นสื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจและลึกซึ้งถึงอารมณ์ของผู้แสดงได้ เพลงรำมีทั้งเร็วและช้า ทั้งนี้ สามารถแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นการรำพื้นเมืองจากทางภาคใดด้วย การเรียนรำไทยถือว่าเป็นการช่วยเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปะอันมีค่าของชนชาติไทยให้สืบต่อไป นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาด้านสมาธิ กล้าแสดงออก เป็นคนมีระเบียบ ร่าเริง จิตใจเยือกเย็น เรียนรู้วิธีร่วมงานกับผู้อื่น และที่สำคัญเห็นได้ชัดคือ การรำไทยช่วยเสริมสร้างให้มีบุคลิกทรวดทรงที่งดงามและสมดุลกัน

นาฏศิลป์ไทยยังได้รับอิทธิพลแบบแผนตามแนวคิดจากต่างชาติเข้ามาผสมผสานด้วย ถือเป็นอิทธิพลสำคัญต่อแบบแผนการสืบสานและถ่ายทอดนาฏศิลป์ของไทยจนเกิดขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่มีรูปแบบ แบบแผนการเรียน การฝึกหัด จารีต ขนบธรรมเนียมมาจนถึงปัจจุบัน บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาทางด้านนาฏศิลป์ไทยได้สันนิษฐานว่า อารยธรรมทางศิลปะด้านนาฏศิลป์ของอินเดียนี้ได้เผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมันกรุงศรีอยุธยาตารมประวัติการสร้างเทวาลัยศิวะนาฏราชที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1800 ซึ่งเป็นระยะที่ไทยเริ่มก่อตั้งกรุงสุโขทัย ดังนั้นท่ารำไทยที่ดัดแปลงมาจากอินเดียในครั้งแรกจึงเป็นความคิดของนักปราชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการแก้ไขปรับปรุงหรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในกรุงรัตนโกสินทร์ จนนำมาสู่การประดิษฐ์ท่าร่ายรำและละครไทยมาจนถึงปัจจุบัน

เอกลักษณ์ของการฟ้อนรำไทยของทุกภาคจะแตกต่างกันบ้างก็อยู่ที่การใช้มือใช้แขน ภาคเหนือกับภาคกลางนั้นละม้ายคล้ายคลึงกันมาก ไม่ยกมือยกแขนต่ำเกินไปหรือสูงเกินไป อยู่ในระดับศีรษะเป็นอย่างสูงสุดไม่เกินกว่านั้น ส่วนภาคใต้นั้นยกมือให้สูงเกินศีรษะขึ้นไปได้ ขาที่ย่อลงไปก็ย่อต่ำกว่าภาคกลางและภาคเหนือมาก และต้องอาศัยการฝึกหัดให้มีกำลังขาที่แข็งจริงๆจึงจะทำได้ นักฟ้อนรำในภาคอีสานนั้นดูจะรำตามสบายยิ่งกว่าภาคอื่นแม้จะอยู่ในสามัญลักษณะเช่นเดียวกัน การกระทบจังหวะด้วยการย่อขาลงหรือยุบนั้นมีน้อยกว่าในภาคอื่นและจะนานๆครั้ง ไม่ลงทุกจังหวะ แต่ดั้งเดิมมานั้นการใช้แขนแตกต่างกันระหว่างผู้ฟ้อนรำที่เป็นผู้หญิงและผู้ชาย ผู้ชายนั้นใช้สองแขนรำได้ แต่ผู้หญิงมักจะ ใช้แขนรำอยู่ข้างเดียว อาจจะเป็นแขนใดแขนหนึ่งก็ได้ ถ้าออกแขนขวารำก็เอาแขนซ้ายบังหน้าอกไว้ หรือถ้าออกแขนซ้ายรำก็ใช้แขนขวานั้นบังหน้าอกไว้ เป็นการแสดงออกถึงความสำรวมของสตรีเพศที่จะต้องปิดบังอวัยวะต่างๆของตนให้มิดชิด